วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

10 สุดยอดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ กระต่าย

10 ข้อ สุดยอดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับกระต่าย ที่คุณอาจฆ่าชีวิตน้อยๆโดยที่ไม่รู้ตัว




        ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อย เริ่มต้น พ.ศ.ใหม่ ด้วยการหาซื้อ กระต่ายน้อยน่ารัก เป็นของขวัญของฝาก เพื่อนสนิท ญาติมิตร และคนที่รัก เพื่อเสริมมงคล และเป็นสัตว์นำโชคในปีเถาะ 2554 โดยหารู้ไม่ว่า กระต่ายน้อย นั้นหนา ไม่ใช่สัตว์ที่คิดจะเลี้ยง ก็เลี้ยงได้ง่าย ๆ เพราะมันเสี่ยงตายสูง หากไม่เรียนรู้วิธีการเลี้ยง กระต่าย ที่ถูกต้องเสียก่อน

         นอกจากนี้ คนจำนวนมาก ยังมีความเชื่อผิด ๆ กับกระต่าย จนทำให้น้องกระต่ายมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ต้องจากโลกไปก่อนวัยอันควร วันนี้เราจึงนำเกร็ดความรู้ การเลี้ยงกระต่ายมาฝากกันค่ะ

1. กระต่ายเลี้ยงง่าย เหมาะสำหรับซื้อให้เด็กมาเลี้ยงเล่น

   การซื้อกระต่ายให้เด็กเลี้ยงเล่น คือการทรมานสัตว์ เด็ก ๆ ส่วนมากมักไม่รู้วิธีดูแลกระต่าย ไม่รู้วิธีเล่นกับกระต่ายอย่างอ่อนโยน และอยากได้สัตว์ที่เอามาอุ้มเล่นกอดเล่นได้ แต่กระต่ายส่วนมากเป็นสัตว์ที่บอบบางมาก ๆ เป็นสัตว์ที่ถูกล่า การกระทำรุนแรงกับเขาเพียงนิดเดียวจะทำให้กระต่ายไม่ไว้ใจคนและเครียด แม้กระต่ายบางตัวจะยอมให้อุ้ม แต่บางตัวก็ไม่ยอมให้อุ้ม
            สัญชาตญาณของกระต่าย คือ อยากอยู่กับพื้น อยู่ในโพรงที่เขารู้สึกปลอดภัยมากกว่า ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ที่ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระต่าย และคอยไม่ให้เด็กแกล้งกระต่าย การซื้อกระต่ายเป็นเพื่อนให้เด็กโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นอะไรที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง





2.กระต่ายอึเหม็น
  อึของกระต่ายปกติจะไม่เหม็น ที่เหม็นคือฉี่ของกระต่าย จริง ๆ แล้ว เราสามารถฝึกกระต่ายให้เข้าห้องน้ำเป็นที่เป็นทางได้ โดยเขาอาจจะมีมุมห้องน้ำที่เขาชอบ(อาจจะมีสองสามมุม) เราแค่เอาห้องน้ำกระต่ายไปวางไว้ เขาก็จะจำกลิ่นและเข้าห้องน้ำได้เป็นที่เป็นทาง แต่ที่ไม่ควรทำคือเอาห้องน้ำของแมวที่มีสารดับกลิ่นมาใช้กับกระต่าย ถ้าจะรองก็ควรใช้แค่ขี้เลื่อย หรือหนังสือพิมพ์แทน

3.กระต่ายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ราคาถูก
  การเลี้ยงกระต่ายไม่เหมือนเลี้ยงปลาหรือหนูแฮมสเตอร์ ค่าตัวของน้องเขาอาจแค่ไม่กี่ร้อยถึงหลักพันบาทเท่านั้น แต่ค่าดูแลรักษานั้นสูงกว่ามาก ๆ เช่น ค่าอุปกรณ์ อาหาร ค่าหมอ ฯลฯ นอกจากนี้คือ ค่าสิ่งของที่น้องเขาอาจไปทำลาย เนื่องจากกระต่ายมีนิสัยที่ห้ามไม่ได้คือ ชอบขุด และชอบแทะ เป็นเหมือนกันทุกตัว สายคอมพิวเตอร์ สายไฟ ฯลฯ ทั้งหมดต้องเก็บซ่อนให้พ้นฟันกระต่าย


 4. หิ้วด้วยหู
    กระต่ายน้อยของคุณไม่ใช่ Bug Bunny ! หูของกระต่ายเป็นบริเวณที่อ่อนไหวมาก ๆ การที่หิ้วหูแล้วน้องเค้าไม่ร้อง ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เจ็บ
    การหิ้วหูอาจทำให้เจ็บถึงตายได้....ย้ำอีกครั้ง ห้าม หิ้ว หู กระต่าย เป็น อัน ขาด!!
    สำหรับวิธีอุ้มที่ถูกวิธีคือ เอามือดึงบริเวณหลัง แล้วเอามือพยุงก้นอีกข้างเพื่อช่วยรองรับน้ำหนัก หรืออาจใช้วิธีการช้อนใต้ท้องให้ขาหน้าอยู่ระหว่างนิ้วแล้วเอามืออีกข้างพยุงก้น โดยวิธีนี้เราอาจจะพอดึงเข้ามากอดได้ แล้วแต่นิสัยของกระต่าย




 5. กระต่ายกินผักบุ้งกับแครอท เป็นอาหารหลัก
    อะไรที่กระต่ายกินเข้าไป ไม่ได้แปลว่ากินไปแล้วจะไม่มีปัญหา แครอทกินได้บ้าง แต่ผักบุ้ง ไม่สมควรเป็นอันขาด เพราะมียางสูง เขาไม่สามารถย่อยได้ กระต่ายเป็นสัตว์กินพืช แปลว่าไม่กินเนื้อสัตว์ (ต้องเขียนย้ำเพราะยังมีผู้เลี้ยงบางคนเอาเนื้อสัตว์ให้กิน)
     สำหรับอาหารที่มีแป้งสูง กินไม่ได้ทั้งนั้น เช่นมัน ขนม ผักบางชนิด แคลเซียมสูงเกินไป กระต่ายกินแล้วเป็นนิ่วได้ อาหารหลักที่ดีที่สุดสำหรับกระต่ายคือ หญ้า สามารถซื้อหญ้าแห้งตามร้านอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง หรืออาจจะเก็บหญ้าขนสดข้างทางนำมาล้างให้สะอาดก็ทำได้ ส่วนผักนั้นกินได้เป็นบางชนิด สำหรับบางชนิดนั้นไม่ดีต่อกระต่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แค่ให้อาหารผิด ลืมล้างผัก อาจทำให้ท้องเสียถึงตายได้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรศึกษาเรื่องโภชนาการสำหรับกระต่ายก่อนอย่างยิ่ง


 6. กระต่ายแคระ
    กระต่ายแคระตัวหนักไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัมมีจริง คือพันธุ์ Netherland Dwarf หรือ ND สำหรับกระต่ายบ้านที่เอามาเลี้ยงพันธุ์เล็ก ๆ อีกสายพันธุ์คือ Holland Lop น้ำหนักอยู่ที่ประมาณหนึ่งกิโลกรัมปลาย ๆ ....อ้าว แล้วอันนี้เข้าใจผิดตรงไหน??
    กระต่ายที่วางกระจาดขายหรือใส่กรงเล็ก ๆ ขายตามตลาดนัดที่คนขายอ้างว่าเป็น "กระต่ายแคระ" ส่วนมากไม่ใช่ กระต่ายแคระจริง ๆ ราคาหลักร้อยไม่มีแน่นอน โดยมากจากฟาร์มราคาจะหลักพัน ซึ่งส่วนมากที่นำมาขายคือกระต่ายเด็ก.. หรือกระต่ายที่ไม่หย่านม โดยกระต่ายเหล่านี้มักจะถูกนำมาขายเมื่ออายุได้แค่เดือนเดียว ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ต้องการ ร้อยละ 95 ของผู้ซื้อ เลี้ยงไม่รอด และกระต่ายจะตายภายในไม่กี่อาทิตย์ เชื่อว่ากระต่ายที่หลายคนแห่ไปซื้อกันช่วงปีใหม่ก็ติดโผในนี้ด้วย
    ถามว่าทำไมถึงยังมีขายอยู่?... คำตอบคือ เนื่องจากมี demand ก็ต้องมี supply ถ้าหยุดซื้อ.. ก็จะหยุดคนขายได้ เลิกซื้อนะครับ กระต่ายเด็ก 


 7.เลี้ยงกระต่ายต้องเลี้ยงเป็นคู่ เดี๋ยวน้องเค้าเหงา
   กระต่ายต้องการความรักตลอดเวลา สำหรับวิธีแสดงความรักของกระต่ายคือ การเลียมือ เข้ามาคลอเคลีย กระต่ายเป็นสัตว์ที่ชอบการสัมผัสมาก ๆ การที่เรามีเวลาให้เขาหนึ่งชั่วโมงต่อวัน แค่นี้ก็เพียงพอ เลี้ยงตัวเดียวก็ไม่เหงา
   จริง ๆ เคยอ่านบทความของฝรั่งเขาว่ากระต่ายมีแนวโน้มที่จะเข้ากับสัตว์อื่น(คน) ได้มากกว่ากระต่ายตัวอื่นด้วยซ้ำ เพราะกระต่ายบางทีมีการหวงพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้ vs ตัวผู้ ส่วนการเลี้ยงกระต่ายร่วมกับสัตว์อื่น เช่น แมว และสุนัข แนะนำว่าต้องศึกษานิสัยของสัตว์เลี้ยงเดิมอย่างดีก่อน แล้วก็ต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะความผิดพลาดครั้งเดียวเป็นการสูญเสียได้
        ส่วนคนที่ซื้อกระต่ายเป็นคู่ แนะนำอย่างยิ่งว่าให้นำไปทำหมัน เพราะกระต่ายใช้เวลาตั้งท้องเพียงเดือนเดียวเพื่อคลอดลูกมา 4-5 ตัวต่อครอก การเลี้ยงโดยไม่ทำหมัน ปล่อย ๆ มีลูก.. จากสองตัวทวีคูณเป็นยี่สิบได้ภายในไม่กี่เดือน ดังนั้น คิดจะเลี้ยง คิดจะรัก ต้องรู้จักป้องกันนะจ๊ะ

 8. เลี้ยงไม่ไหวแล้ว ไปปล่อยป่าดีกว่า
    ต่อจากข้อ 7. ผู้เลี้ยงบางท่าน (คนใกล้ตัวก็มี) เลือกที่จะปล่อยกระต่าย ด้วยเหตุผลที่ว่าเลี้ยงไม่ไหว เบื่อ ไม่เห่อแล้ว ลูกออกมาเยอะเกิน ที่หอไม่ให้เลี้ยง (ไม่ถามก่อนฟะ?) ฯลฯ
     การปล่อยกระต่ายเข้าป่า = ฆ่ากระต่าย 
     กระต่ายบ้าน (rabbit) ไม่เหมือนกระต่ายป่า (hare) สัญชาตญาณการเอาตัวรอดอะไรไม่ดีพอที่จะอยู่รอดในฝูงนักล่า ถึงอยู่รอดจากหมาแมวได้ ก็จะเจอกับปัญหาเรื่องอาหารการกิน ฯลฯ สำหรับกรณีที่ไม่ไหวจริง ๆ ให้ลองเสิร์จหาเกาะกระต่าย บึงฉวาก กันดูนะ


 9. กระต่ายโง่ กินกับนอนเป็นอย่างเดียว
     จริง ๆ แล้วกระต่ายค่อนข้างฉลาดพอสมควร เพียงแต่ไม่ฉลาดประจบเอาใจเหมือนหมาแมว แต่มักจะฉลาดเอาตัวรอด ฉลาดที่จะหาอะไรให้ตัวเอง เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่มีโลกส่วนตัวสูง การจะฝึกให้ทำอะไรตามใจเจ้าของเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ถ้าไม่มีแรงจูงใจให้กับเขาเอง ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงกระต่ายหลายคนจะพบว่า กระต่ายจะมาหาเรา เมื่อเขาอยากมาหา เวลาที่เขาไม่อยากมาอ้อนเรา เรียกให้ตายยังไงเขาก็ไม่มา
     บางครั้งเขาอาจจะเข้าใจว่าเราอยากให้เขาทำอะไร แต่ในใจเขาอาจจะคิดว่า "แล้วไง แล้วฉันจะได้อะไร?" ...กระต่ายสามารถถูกฝึกให้เข้าห้องน้ำเป็นที่ได้ วิ่งขึ้นลงบันไดเป็น เปิดประตูเปิดกรงเอง บางตัวจำชื่อตัวเองได้ด้วยล่ะ




 10. กระต่าย ตายง่าย.. อายุสั้น
     เป็นความเชื่อที่ผิด ส่วนหนึ่งมากจากผู้เลี้ยงกระต่ายเด็กแล้วไปไม่รอด ตายภายในไม่กี่วัน ส่วนผู้เลี้ยงกระต่ายอื่น ๆ ทั่วไป ที่อาจดูแลไม่ดี หรือไม่ได้ศึกษาข้อมูลเพียงพอ หรือเลี้ยงแบบตามใจ อาจจะอยู่ได้เพียง 3-4 ปี แต่อายุขัยของกระต่ายจริง ๆ คือ 8-12 ปี ถ้าเลี้ยงดูอย่างดี พาไปทำหมันเรียบร้อย ไม่เครียดไม่อะไร น้อง ๆ จะอยู่กับเราได้นาน
      ทั้งนี้ การเลี้ยงกระต่ายต้องอาศัยความเอาใจใส่ ความรัก และการสังเกตตลอดเวลา ความที่เป็นสัตว์ถูกล่า กระต่ายมักจะไม่แสดงอาการป่วยจนกว่าจะไม่ไหวจริง ๆ ในขณะเดียวกัน กระต่ายเป็นสัตว์ที่ไม่มีเสียงร้อง ไม่สามารถร้องอ้อน หรือส่งเสียงไม่สบายใจใด ๆ กระต่ายจะร้องได้ก็ต่อเมื่อทรมานสุด ๆ และเจ็บสุด ๆ เป็นเสียงก่อนตายเท่านั้น

      เพราะอย่างนี้กระมัง นักวิจัยถึงมักเอากระต่ายเป็นสัตว์ทดลองยา ดังนั้น...เมื่อรักจะเลี้ยงกระต่ายแล้ว ต้องดูแลให้สุดชีวิตด้วยนะจ๊ะ
 


รวบรวมคำศัพท์ ในโลกของกระต่ายจ้า

เพราะก่อนหน้านี้เราเองก็แสนจะงงกับคำศัพท์หลายๆคำในโลกของกระต่าย ที่ไม่คุ้นหู จึงอยากรวบรวมเหล่าคำศัพท์และคำอธิบายในแบบของเราเองมาแบ่งปันกันนะคะ ^ ^ 
เริ่มจากที่เจอบ่อยๆละกันนะ
เกรดเพท (Pet grade , Pet quality) = เพท แปลว่าสัตว์เลี้ยง เกรดเพทหมายถึงกระต่ายที่เหมาะจะเอาไปเลี้ยงน่ารักๆ สวยงามค่ะ
เกรดโชว์ (Show grade, Show quality) = หมายถึงกระต่ายที่มีลักษณะที่ดี ถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ เอาไปโชว์ หรือรวมถึงเอาไปประกวดได้
เกรดบรูด (Brood quality) = บางคนก็เรียก เกรดบรีด แต่ฝรั่งเรียกบรูดนะคะ หมายถึง กระต่ายที่มีลักษณะที่ดี มีโครงสร้างที่เหมาะสมจะนำมาเป็นแม่พันธุ์ค่ะ
Buck = หมายถึง กระต่ายเพศผู้
Doe = กระต่ายเพศเมีย
Junior = หมายถึงกระต่ายเด็กอายุไม่เกิน 6 เดือนค่ะ
Senior = หมายถึงกระต่ายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปค่ะ
Pedigree ใบเพ็ด = หมายถึงใบประวัติของกระต่าย ดีกรีของกระต่าย จะแสดงให้เห็นถึงประวัติของต้นตระกูลกระต่ายตัวนั้นๆถึง 3 รุ่นเลยค่ะ

พูดถึงใบเพ็ดเอาคำศัพท์จากในใบเพ็ดมาพูดบ้างบางส่วนก็แล้วกันนะคะ

Variety = สีของกระต่าย
Ear = ย่อมาจาก Ear Number ก็ชื่อเบอร์หูนั่นแหละค่ะ
เบอร์หู = คือชื่อประจำตัวกระต่ายตัวนั้นๆค่ะ อาจจะเป็นชื่อย่อ หรือรหัสอะไรก็แล้วแต่เจ้าของจะใช้ค่ะ กระต่ายที่จะเอาลงประกวดในมาตรฐาน ARBA ต้องมีเบอร์หูและสักหูก่อนส่งประกวดค่ะ
สักหู , Tattoo = ความหมายตรงตัวนะคะ สักชื่อไปที่หูค่ะ โดยจะสักเบอร์หูไว้ที่หูข้างซ้ายค่ะ
Reg = ย่อมาจาก Register Number ก็คือรหัสการขึ้นทะเบียนกระต่ายค่ะ
Register, รีจิสกระต่าย = คือการขึ้นทะเบียนรับรองกระต่ายกับทาง ARBA ค่ะ กระต่ายที่จะขึ้นทะเบียนได้ต้องมีลักษณะตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ของ ARBA นะคะ
DOB = ย่อมาจาก Day of Birth ก็คือวันเกิดของกระต่ายนั่นเองค่ะ
Sire =  ก็คือพ่อของกระต่ายค่ะ
Dam = ก็คือแม่ของกระต่ายค่ะ
คำศัพท์ในใบเพ็ด ก็จะมีให้เห็นในการประกวดเช่นกัน งั้นมายกตัวอย่างคำศัพท์ในการประกวดกระต่ายต่อเลยแล้วกันนะคะ
ARBA คืออะไร ARBA ย่อมาจาก  American Rabbit Breeder Association เป็นสมาคมผู้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายของอเมริกา ซึ่งมีประวัติยาวนานมากๆค่ะ
Show A B  = ต่างๆที่เห็นในงานประกวดกระต่ายที่สมาคม Siam Rabbit Club จัดขึ้น ก็หมายถึงการประกวดที่ตัดสินโดยกรรมการคนละท่านกันค่ะ ซึ่งก็จะแล้วแต่การจัดการประกวดนะคะ บางงาน บางที่ก็อาจจะไม่มีการแบ่งเป็น Show A B ก็ได้ค่ะ
Leg = ขา? ไม่ใช่ค่ะ Leg ก็เหมือนกับแต้มการชนะการประกวด คือการที่กระต่ายชนะการประกวดในแต่ละครั้ง ก็จะได้รับ 1 Leg หากชนะในหลายๆการประกวดก็จะได้รับ Leg เยอะขึ้นไปด้วยค่ะ เหมือนเป็นการสะสมผลการชนะการประกวดค่ะ  แต่ไม่ใช่ว่าประกวดชนะแล้วจะได้ Leg ไปเสียทุกรอบนะคะ เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เพิ่มเติมอีกค่ะ

เมื่อน้องกระต่ายขนร่วง

เมื่อน้องกระต่ายขนร่วง

     หลายๆคนคงจะเคยเจอปัญหาเรื่องน้องกระต่ายขนร่วงกันมาแล้วนะคะ การที่กระต่ายขนร่วงนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมากๆค่ะ เราต้องดูว่าที่กระต่ายของเราขนร่วงเพราะสาเหตุใด จะได้ทำการรักษากันได้ถูกนะคะ เราได้ลองรวบรวมสาเหตุหลักๆที่ทำให้กระต่ายขนร่วงมีดังนี้ค่ะ

ผลัดขน  กระต่ายจะผลัดขนประมาณปีละครั้งนะคะ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาหารและสภาพอากาศด้วยค่ะถ้าอากาศร้อนหรืออาหารไม่มีคุณภาพเพียงพอก็จะทำให้เกิดการผลัดขนได้บ่อยขึ้นค่ะ กระต่ายที่ผลัดขน เมื่อเวลาเราลูบที่ตัวเค้าก็จะมีขนหลุดติดมือเราออกมาเยอะมาก อาการขนร่วงจากการผลัดขน เดี๋ยวก็หายไปเองค่ะ ไม่ต้องกังวลไป วิธีดูแล เราควรช่วยโดยการแปรงขนให้ขนที่ตายแล้วหลุดติดแปรงออกมา เวลาเค้าทำความสะอาดตัวเองจะได้ไม่ต้องเลียและกลืนขนเยอะเกินไป จนไปปั้นเป็นแฮร์บอลอยู่ในท้องนะคะ และการแปรงขนก็ทำให้ขนไม่ปลิวละล่องอยู่ในอากาศด้วยนะคะ เดี๋ยวจะจามกันทั้งบ้าน

เครียด เวลาที่กระต่ายของเราเครียด ไม่ว่าจะเพราะเปลี่ยนที่อยู่ ไม่ได้ผสมพันธ์ หรือสาเหตุอื่นๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการขนร่วงได้เช่นกันค่ะ เราก็ต้องดูตามสาเหตุนะคะ ให้เค๊าปรับตัว ให้เค๊าหายเครียด บำรุงด้วยอาหารดีดี เดี๋ยวขนก็กลับมาค่ะ

ท้อง กระต่ายที่ขนหายขนหลุดเป็นหย่อมๆอาจจะเป็นเพราะแม่กระต่ายท้องก็เป็นได้นะคะ เพราะแม่กระต่ายเมื่อรู้ตัวว่าท้องใกล้จะคลอกก็จะมีการเตรียมตัวสร้างรังอันอบอุ่นให้ลูกโดยการ กัดขนในบริเวณที่เค้ากัดถึงค่ะ  ก็จะเห็นว่าขนตามขา ตามหน้าอก จะหายไปจนเห็นผิวหนังชัดเจนเลย อาการนี้เป็นเรื่องปรกติค่ะ เดี๋ยวขนก็ยาวเหมือนเดิมเองค่ะ แล้วพอท้องครั้งหน้า คุณแม่คนเก่งก็ทำการแทะขนใหม่อยู่ดีค่ะ - -
กัดกัน มีแผล เช่นเวลากระต่ายทะเลาะกัน หรือเวลาที่กระต่ายผสมพันธ์กัน ในบางคู่ก็จะกัดกันด้วยค่ะ ขนที่ร่วงจากอาการนี้จะเห็นขนหลุดเป็นกระจุกๆเลย แบบนี้เราก็รักษาแผลให้สะอาดค่ะ เมื่อแผลหายขนก็จะกลับมาเองค่ะ

* ไร ขี้เรื้อน เชื้อรา
ไรที่ขน อาการขนร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ขนมีเศษขาวๆเหมือนรังแค และผิวหนังจะมีสีแดง ให้ลองหวีขนเค้าดูนะคะ ถ้าเห็นเหมือนรังแค แต่ดันเดินได้ นั่นอาจจะเป็นตัวไรค่ะ ไรขนจะทำให้กระต่ายของเราหมดสวย สภาพกระเซอะกระเซิง

ไรที่หู ขนตามขอบหูแหว่งๆ มีก้อนเหลืองๆแข็งๆในหู และ ที่สังเกตได้ชัดคือ หูมีสะเก็ดแข็งๆ หนาๆ กระต่ายจะมีอาการคันมาก ถ้าเป็นหนักๆหูจะเริ่มแหว่งไปเรื่อยๆและลามไปส่วนอื่นๆของร่างกายได้ และถ้าหากตัวไรเข้าไปยังหูชั้นในของกระต่าย ก็อาจจะทำให้เกิดโรคคอเอียงได้อีกด้วย ซึ่งทำให้กระต่ายตายได้ค่ะ โรคไรติดต่อกันได้ง่าย จากสิ่งแวดล้อม จากกระต่ายหรือสัตว์เลี้ยงต่างๆ
การรักษา ทำได้โดยการฉีดยา และ หยดยาค่ะ การหยดยาสามารถทำได้เองแต่ในครั้งแรกควรจะปรึกษาหมอก่อนนะคะว่ากระต่ายของเราควรใช้ปริมาณการหยดแค่ไหน โดยจะใช้เป็นการหยดยากำจัดปรสิต หยดได้ทุกๆ เดือนค่ะ หรือ พาไปให้คุณหมอฉีดยาก็ได้ค่ะ โดยจะต้องทำการฉีดยาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เพียงไม่กี่ครั้ง อาการก็จะดีขึ้นและหายได้ค่ะ

เชื้อรา ขนร่วง ผิวหนังเป็นขุยๆ  มักจะเป็นบริเวณจมูก ใบหู นิ้วเท้า มักพบร่วมกับการเป็นไร  โรคเชื้อราเป็นโรคที่ติดต่อจากกระต่ายสู่กระต่าย สัตว์เลื้ยงอื่นๆ และติดต่อสู่คนได้ด้วยนะคะ ฉะนั้นต้องรีบรักษาด่วนค่ะ หมออาจจะให้ยากิน หรือยาทาที่เป็นครีมมาทาค่ะ ยาครีมเราสามารถหาซื้อมาทาให้กระต่ายเองได้ค่ะ เช่น ยา Ketoconazole โดยหลังจากทาเราอาจจะจับเขาให้อยู่นิ่งๆซักพักเพื่อให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง แล้วค่อยปล่อยค่ะ เพราะถ้าทาแล้วปล่อยเลย เขาจะทำการกรูมมิ่งตัวเองทันที ก็อาจจะเช็ดยาออกหมดเสียก่อนค่ะ

ไร ขี้เรื้อน และ เชื้อรา สามารถกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นผู้เลี้ยงควรดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีค่ะ ให้มีความสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำๆค่ะ

อาหารกระต่าย และโภชนะสำหรับกระต่าย

อาหารกระต่าย และโภชนะสำหรับกระต่าย ในที่นี้ขอแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อดังนี้ 



1. อาหารและการเก็บรักษา
         อาหารกระต่ายมีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่อาหารสำเร็จรูป อาหารหยาบ ได้แก่ พวกหญ้าต่างๆ ผักผลไม้ อาหารเสริม รวมไปถึงเกลือแร่และวิตามิน อาหารทุกชนิดมีความสำคัญและช่วยสร้างความสมดุลในโภชนะได้ต่างๆกันไป กระต่ายแต่ละช่วงวัยต้องการอาหารที่มีโภชนะแตกต่างกันไป เช่น กระต่ายวัยเด็ก ต้องการอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต , กระต่ายรุ่น อาจต้องการโปรตีนลดลงมา และไม่ต้องการแคลเซียม, กระต่ายแก่ อาจจ้องการอาหารที่มีพลังงานต่ำ, แม่กระต่ายท้องและให้นมลูก ต้องการโปรตีนและแลเซียมสูง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตพัฒนาการของลูกในท้อง และสร้างน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงลูก เป็นต้น อาหารกระต่ายที่ดีควรเป็นอาหารที่ใหม่ กลิ่นหอม และปราศจากเชื้อรา และในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปมากมาย เราสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมสำหรับกระต่ายของเรา
          ความสำคัญของอาหาร คือ เมื่อได้รับเข้าไปร่างกานสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีพ การเจริญเติบโต รวมถึงการสืบพันธุ์ อาหาที่ดีควรมาจากวัตถุดิบที่เหมาะสมกับสัตว์ประเภทนั้นๆ กระต่ายเป็นสัตว์ที่อยู๋ในประเภท Herbivorous Monogastrics คือ กินพืชเป็นอาหาร และมีกระเพาะเดี่ยว ดังนั้นอหารกระต่ายที่เหมาะสมจึงไม่ควรมีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ ลำไส้กระต่ายนั้นยาวมาก สามารถย่อยกาก หรือแม้กระทั่ง Cellulose ได้ดี
          การเก็บรักษาอาหารมีผลโดยตรงต่อคุณภาพอาหาร เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเก็บรักษามากพอๆกับการเลือกซื้อ ควรเก็บอาหารในที่แห้งและเย็น แต่ไม่ถึงขนาดต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเพราะจะทำให้อาหารชื้น อาจใส่ไว้ในกล่องพลาสติกมีฝาปิด และใส่สารดูดความชื้นลงไป และตั้งไว้ในที่ๆปราศจากมด และแมลง

2. อาหารสำเร็จรูป
           คืออาหารที่นำมาอัดเม็ดให้อยู่ในรูปแท่งทรงกระบอก เราสามารถพบได้ทั่วไปตามท้องตลาด ส่วนใหญ่จะอยู๋ในรูปอัดเม็ดเพื่อความสะดวกในการใช้ และการกินของกระต่าย หากเป้นผง ความฟ่ามจะสูงกระต่ายจะไม่ค่อยกิน ลูกกระต่ายสามารถกินอาหารเม็ดได้ตั้งแต่ 3-4 สัปดาห์ โดยกินร่วมกันน้ำนมแม่ ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปมีมากมายหลายชนิด เช่น โปรตีนสูง, ไฟเบอร์สูง, ลดกลิ่นมูล ฯลฯ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและวัยของกระต่าย
           การให้อาหารเม็ดมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อกระต่ายเพราะอาจทำให้กระต่ายอ้วน เนื่องจากได้รับพลังงานเกินความจำเป็น ซึ่งภาวะอ้วนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกระต่ายด้วย อาหารสำเร็จรูปจำรวมโภชนะต่างๆไว้ในเม็ดเดียวกัน คือ โปรตีน ไขมัน และกาก หรือ fiber อาหารบางยี่ห้ออาจมีการเสริมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นไว้เพื่อให้ได้โภชนะที่เหมาะสม แม้ว่าอาหารเม็ดจะมีลักษณะคล้ายกันทางกายภาพ แต่อาจมีสูตรประกอบอาหารต่างกัน หากต้องการเปลี่ยนอาหารควรเริ่มจากทีละน้อยๆ เริ่มจาก 1 ส่วน 4 และค่อยๆ เพิ่มทีละน่อย จนเปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ทั้งหมด และควรเปลี่ยนอาหารทุกครั้งเมื่ออาหารชื้น เพราะเมื่อกระต่ายกินเข้าไปอาจทำให้กระต่ายป่วยได้
              โภชนะที่เหมาะสมสามารถช่วยให้กระต่ายมีการเจริญเติบโตที่ดี โภชนะในอาหารมีอยู๋ 6 อย่างคือ น้ำ, คาโบไฮเดรต, โปรตีน, ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน
                       - น้ำ มีความสำคัญต่อระบบต่างๆของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล
                       - คาโบไฮเดรต เป็นโภชนะที่ให้พลังงานในการดำรงชีพ
                       - โปรตีน เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อ เซลล์ต่างๆ จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
                       - ไขมัน เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อต่างๆ ช่วยละลายวิตามินบางชนิด และเป้นแหล่งของกรดไขมันจำเป็น
                       - แร่ธาตุ  สำคัญต่อการเจริญเติบโต เป็นองค์ประกอบของกระดูก และฟัน และยังเป็นสารสื่อประสาทอีกด้วย
                       - วิตามิน เป็นโภชนะที่ขาดไม่ได้ และร่างกายจะใช้เพียงเล็กน้อย วิตามินแต่ละชนิดจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป หากขาดอาจเกิดโรคบางโรคขึ้น

3. อาหารหยาบ
             อาหารหยาบคืออาหารที่มี Fiber สูง มีความสำคัญกับกระต่ายมากพอๆกับอาหาร อาหารหยาบจะถูกส่งไปย่อยที่ลำไส้ โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวช่วยย่อย อาหารหยาบช่วยคงความสมดุลของระบบย่อยอาหารของกระต่ายให้อยู่ในภาวะสมดุล หากได้รับ fiber ไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะท้องเสีย หรือท้องอืด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
             อาหารหยาบอาจอยู่ในรูปหญ้าสด, หญ้าแห้ง, ต้นถั่วแห้ง, หรือ แบบอัดเม็ด หรืออัดก้อน สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม และความสะดวกในการใช้
                      - หญ้าสด ได้แก่ หญ้าขน, หญ้ารูซี่, หญ้าแพงโกล่า ฯลฯ สามารถปลูกเองภายในบริเวณบ้าน หรือตัดในบริเวณที่มีหญ้าเหล่านี้ขึ้นอยู่ เมื่อตัดเสร็จควรล้างด้วยน้ำสะอาจ และผึ่งสักครู่ให้น้ำแห้งก่อนนำมาให้กระต่าย

                     - หญ้าแห้ง คือการนำหญ้าสดมาทำให้อยู๋ในรูปแบบแห้ง อาจใช้วิธีตากแดดหรือนำเข้าเครื่องอบแห่ง เพื่อลดความชื้นในหญ้า หญ้าแห้งที่นิมยมได้แก่ หญ้าขนแห้ง, หญ้าแพงโกล่าแห้ง, หญ้าธิโมที, หญ้าเฮย์ ฯลฯ การทำหญ้าแห้งเป็นการถนอมพืชอาหารสัตว์ เพื่อให้สะดวกในการเก็บรักา และใช้ในฤดูแล้ง
                     - ต้นถั่วแห้ง ที่รู้จักกันดีที่สุดคืออัลฟาฟ่า โดยนำถั่วทั้งต้น หรือตัดเฉพาะยอดมาตากแห้ง ถั่วมีคุณค่าทางโปรตีนสูงกว่าหญ้า และในบางชนิดมี fiber สูงกว่า แต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย ในบ้านเรามีถั่วอาหารสัตว์อีกหลายชนิด แต่ไม่นิยมเนื่องจากไม่ค่อยมีการปลูกเพื่อจำหน่ายทางการค้า และต้นถั่วสดไม่เหมาะในกระต่ายอายุน้อยๆ เพระลำต้นอวบน้ำ
                      - หญ้าอัดเม็ด และหญ้าอัดก้อน เป็นรูปแบบการเก็บรักษาอาหารหยาบให้สะดวกยิ่งขึ้น โดยทำให้อยู๋ในรูปแบบก้อนหรือเม็ด โดยใช้สารบางชนิดเพื่อลดความฟ่ามในการอัดเม็ด หญ้าอัดก้อนช่วยลับฟันกระต่ายได้

4. ผักและผลไม้
              กระต่ายสามารถกินผักและผลไม้ได้มากมายหลายชนิด เช่น แครอท, กระหล่ำ ฯลฯ แต่ควรมั่นใจได้ว่าผักนั้นปลอดสารพิษ เพราะกระต่ายไวต่อพิษมาก พิษจากยาฆ่าแมลงสามารถทำให้กระต่ายอายุน้อยท้องเสีย และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในกระต่ายโตอาจพบอาการท้องเสียอย่างเดียว ในกรณีพิษไม่รุนแรง
               กระต่านอายุน้อยที่ไม่ทราบว่าเคยกินผักมาก่อนหรือไม่ ไม่ควรให้ผักสดทันที ควรรอให้อายุมากพอที่จะสามารถรับสิ่งแปลกใหม่ได้ หรืออาจถามจาผู้ขายหรือผู้เลี้ยงคนก่อนว่า กระยเคยกินอะไรมาบ้าง ผลไม้สด เป้นอาหารที่กระต่ายชอบ เพราะมีรสชาติดี หวาน หอม แต่การให้มากไปย่อมเป็นผลเสียต่อกระต่าย อาจให้มะละกอสด หรือสัปประรดสด ชิ้นเล็กๆ 2-3 ชิ้น / สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคก้อนขน

5. แร่ธาตุและวิตามิน
              แร่ธาตุบางชนิดมีผลต่อการเจริญเติบโของกระต่ายโดยตรง เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัส โดยแร่ธาตุเป็นสารประกอบอนินทรีย์ และในร่างกายเราจะมีแร่ธาตุประกอบอยู๋ประมาณ 30-40 ชนิด ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ แร่ธาตุ แคลเซียมและฟอสฟอรัส
                      - แคลเซียม เป็นองค์ประกอบของกระดูกและฟัน และยังช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ ช่วยในการสร้างน้ำนม โดยเฉพาะแม่กระต่ายให้นมลูก แคลเซียมสำคัญมาก หากขาดแคลเซียมอาจทำให้กระต่ายมีอาการกระดูกเปราะ กระดูกอ่อน ขาแปร และหากเกิดในแม่กระต่าย อาจทำให้เป็นโรคไข้น้ำนม ซึ่งอันตรายต่อชีวิต
                      - ฟอสฟอรัส ในความเป็นจริงแคลเซียสและฟอสฟอรัสจะทำงานร่วมกันอย่างมีสมดุล หน้าที่หลักคือเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ธาตุฟอสฟอรัสมีผลโดยตรงต่ออัตราการผสมติด หากขาดฟอสฟอรัส อาจแสดงอาการดังน้คือ ชอบกัดไม้ กระดูก หิน ฯลฯ
                     วิตามิน เป็นโภชนะที่ขาดไม่ได้ และร่างกายจะใช้เพียงเล็กน้อย วิตามินแต่ละชนิดจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป หากขาดอาจเกิดโรคบางโรคขึ้น วิตามินแบ่งเป็น 2 ประเภท คือละลายในน้ำ และละลายในไขมัน วิตามินที่ละลายในไขมัน คือ วิตามิน เอ, วิตามินดี, วิตามินอี และวิตามินเค วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่วิตามินบี และวิตามินซี  หากกระต่ายขาดวิตามินเป็นเวลานานๆอาจทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติได้                      

6. ขนมและอาหารเสริม
           แม้ว่าขนมและอาหารเสริมไม่จำเป็นต้องให้กระต่ายกิน แต่การใอหารเสริมเป็ฯการกระชับสัมพันระหว่างเรากับกระต่ายได้เป็นอย่างดี และเป็นการลดการเบื่ออาหาร ช่วยให้กระต่ายมีความสุขในการดำรงชีวิตมากขึ้น การให้ขนมนั้นไม่ควรให้ในปริมาณมาก เพราะขนมบางชนิดมีปริมาณแป้งและน้ำตาลมาก อาจทำให้กระต่ายอ้วน อาจเสริมอาหารเสริมประเภทธัญพืชให้กระต่ายบ้างในบางกรณี เช่น ข้าวโอ๊ต ซึ่งมีกลิ่นหอม และกระต่ายชอบ ซึ่งก็ควรให้ในปริมาณจำกัดเช่นกัน เพราะธัญพืชส่วนประกอบหลังคือคาโบไฮเดรตย่อยยาก และอาจก่อให้เกิดภาวะท้องอืดได้


7. น้ำ
             น้ำมีความสำคัญต่อกระต่ายมาก เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ขาดน้ำไม่ได้ สัตว์ควรได้รับน้ำ 3-8 เท่า ของวัตถุแห้งที่ได้รับเข้าไป แม้ว่าน้ำจะไม่มีคุณค่าทางอาหาร แต่น้ำช่วยเสริมสร้างส่วนประกอบต่างๆ และสร้างความสมดุลของระบบต่างๆในร่างกาย ขาดอาหารอยู่ได้ แต่ขาดน้ำอยู๋ไม่ได้ ความสำคัญของน้ำมีดังนี้ คือ
                        - เป็นสื่อกลางทำให้เกิดปฏิกริยาเคมีต่างๆ ภายในร่างกาย เช่นการย่อยอาหาร ดูดซึมอาหาร ฯลฯ
                        - น้ำเป็นส่วนประกอบของเลือดและน้ำเหลือง
                        - ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่
                        - เป็นส่วนประกอบของของเหลวงตามข้อต่อต่างๆของร่างกาย
                        - ช่วยทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายคงรูปอยู๋ได้
                        จะเห็นได้ว่าน้ำมีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต น้ำสำหรับกระต่าย ควรสะอาด และไม่ควรเป็นน้ำที่มีตะกอน หรือเป็นน้ำหวานต่างๆ เพราะน้ำหวานอาจทำให้กระต่ายอ้วน และน้ำตาลจะทำให้ระบบย่อยอาหารของกระต่ายเกิดภาวะผิดปกติได้

แหล่งอ้างอิง
พันทิพา พงษ์เพียรจันทร์.2539, หลักการให้อาหารสัตว์เล่ม 2, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตน. กรุงเทพ
สุวรรณ อ่อนวิมล.พมพ์ครั้งที่ 3, การเลี้ยงกระต่าย, โครงการหนังสือเกษตรชุมชน.กรุงเทพ
กณิกนันท์ ลีฬฆวรรณ, คู่มือกระต่าย, สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม.กรุงเทพ
http://www.mybunny.org/info/rabbit_nutrition.htm
http://www.kasetkorat.ac.th/chai/feeds-and-feeding/

การดูเเลคามสะอาดลูกรัก

การดูแลทำความสะอาดกระต่าย

           โดยปรกติแล้วกระต่ายเป็นสัตว์รักสะอาดจะมีการดูแลทำความสะอาดตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะสังเกตได้ว่าหากกระต่ายที่มีสุขภาพดี จะมีการเลียทำความสะอาดขนตัวเองอยู่เสมอค่ะ ถ้าหากกระต่ายเริ่มสกปรกมอมแมมขี้ตากรังก็อาจจะเกิดการเจ็บป่วยได้ค่ะ



การดูแลการแปรงขน
การแปรงขนถือเป็นการทำความสะอาดกระต่ายอย่างหนึ่งนะคะ กระต่ายที่ไม่ได้เลอะเทอะอะไรเราแค่แปรงขนบำรุงขนให้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
  • การแปรงขนเป็นการแปรงเอาขนเสีย ขนที่พันกันออก โดยค่อยๆแปรงเบาๆ อย่าไปกระชากรุนแรง
  • หากส่วนไหนหวีไม่ออกขนพันกันเป็นก้อนเกินจะเยียวยาให้เอากรรไกรเล็มตัดบริเวณที่ขนพันกันออกไปค่ะ
  • การหวีควรหวีจากด้านนอกให้ขนด้านนอกเรียบร้อยดี แล้วค่อยๆแหวกๆหวีขนชั้นในด้วยค่ะ
  • ในกระต่ายขนสั้นการดูแลจะไม่ยุ่งยากเท่ากระต่ายขนยาว โดยจะเป็นการช่วยหวีขน แปรงขนเอาขนตายออก ฉีดสเปรย์บำรุงให้ขนเงางาม
  • ในกระต่ายขนยาวเราต้องดูแลมากหน่อย สิ่งที่ควรทำสม่ำเสมอคือการหวี แปรงขนเพื่อป้องกันไม่ให้ขนพันกัน การแปรงขนก็ควรแปรงทั้งขนชั้นนอกและชั้นใน หากเจอขนพันกันรุนแรงก็ต้องเอากรรไกรเล็มทิ้งไปค่ะ นอกจากนี้ก็ควรฉีดสเปรย์บำรุงขนด้วยค่ะ

การทำความสะอาดเฉพาะส่วน
  • หลักจากการแปรงขนแล้ว หากยังเห็นว่ามีส่วนไหนที่เลอะเทอะมากๆ เช่น เท้า ก้น ท้อง เราก็สามารถทำความสะอาดเฉพาะส่วนได้
  • โดยการใช้ผ้าขนหนูหรือฟองน้ำชุบน้ำค่อยๆเช็ดในบริเวนที่เลอะมากๆออกไป จะใช้น้ำเปล่าๆ ,น้ำผสมแชมพูเด็ก หรือแชมพูสำหรับสุนัข ก็ได้ค่ะ
  • เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วก็ควรเช็ดขนให้แห้ง ป้องกันกระต่ายเป็นหวัดค่ะ แต่ถ้าสกปรกมากจริงๆเช็ดอย่างไรก็ไม่ออก ก็ใช้กรรไกรเล็มๆทิ้งไปเลยดีกว่าค่ะ

การอาบน้ำกระต่ายทำได้หรือไม่
ทำได้ค่ะแต่ไม่จำเป็นค่ะ เราแนะนำว่าหากกระต่ายมีความเลอะเทอะมากจริงๆให้ลองทำความสะอาดในขั้นตอนอื่นๆที่ว่ามาหลายๆครั้งดูก่อน เขาก็จะสะอาดขึ้นเองค่ะ แต่ถ้าหากว่าเราอยากจะอาบน้ำให้จริงๆก็สามารถทำได้ค่ะ
  • อันดับแรกควรดูว่ากระต่ายของเราสุขภาพดี ไม่ขี้กลัวหรือเครียดง่ายนะคะ
  • เริ่มต้นโดยการค่อยๆเอาผ้าชุบน้ำลูบๆก่อนให้คุ้นเคย หรือค่อยๆเอามือควักน้ำลูบๆให้ขนเปียกๆ
  • แล้วเอาแชมพูลงบนขน ขยี้เบาๆในบริเวณที่สกปรก
  • จากนั้นเอาผ้าชุบน้ำค่อยๆเช็ดฟองออกแล้วควักๆน้ำล้างฟองออกไปค่ะ
  • หลังจากล้างขนสะอาดเรียบร้อยดีให้เช็ดตัวให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ ยอมเปลืองผ้าหน่อยนะคะ
  • ถ้าต้องการจะไดร์ขนให้ก็อย่าให้เป็นลมร้อนมากนะคะ เดี๋ยวจะแย่ไปใหญ่
  • เมื่อกระต่ายตัวแห้งดีให้แปรงขนและลงครีมหรือสเปรย์บำรุงขนก็เสร็จเรียบร้อยค่ะ
ข้อมูล และประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงดูจาก Country Rabbit Farm

มารู้จักพฤติกรรมของกระต่ายกัน

พฤติกรรมต่างๆของกระต่าย

             กระต่ายเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลาเช้าตรู่และช่วงพลบค่ำ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นลูกรักของเราคึกคักตลอดตั้งแต่หัวค่ำจนเวลากลางคืนนะคะ ซึ่งก็เหมาะกับคนทำงานกลับมาลูกๆตื่นตัวพร้อมเล่นกับเราพอดีเลยค่ะ ^^ ส่วนเรื่องการฝึก นิสัยของกระต่ายแต่ละตัวก็ต่างกันออกไป บางตัวก็ฝึกได้ บางตัวฝึกเท่าไหร่ก็ไม่จำ ก็ต้องทำใจนะคะมาดูพฤติกรรมต่างๆของกระต่ายว่าแสดงออกถึงอะไร และต้องการอะไรกันนะคะ


การกินมูลตัวเอง(Coprophagy)
           หากเห็นกระต่ายของเรากินมูลตัวเองไม่ต้องตกใจนะคะ ควรปล่อยให้เค๊ากินไป ถึงแม้เราจะรู้สึกตะหงิดๆใจก็ตาม เพราะการกินมูลตัวเองของกระต่ายจะเป็นการปรับลำไส้ของเค๊าให้เป็นปรกติ กระต่ายจะมีการถ่ายมูลพวงองุ่นที่อ่อนนุ่มนี้ในยามเช้าตรู่แล้วกินมันกลับเข้าไปใหม่การกระทำนี้เรียกว่า Coproghagy นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองว่าการที่กระต่ายกินมูลพวงองุ่นนี้เข้าไปจะทำให้ลำไส้ของเค๊าเป็นปรกติ แบคทีเรียในลำไส้ของกระต่ายจะผลิตวิตามินบีและโปรตีนฉะนั้น ในมูลพวงองุ่นก็จะมีทั้งวิตามินบี โปรตีน และแบคทีเรียที่ดี เมื่อกระต่ายกินมูลกลับเข้าไป ก็จะได้รับสารอาหารและแบคทีเรียที่ดีก็จะกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งค่ะ ^ ^

การสื่อสาร
           โดยปรกติเราจะไม่ค่อยได้ยินเสียงกระต่ายนะคะ ยกเว้นเวลาเค๊าตกใจ กลัวอะไรก็จะมีการร้องออกมา กระต่ายบางตัวเวลาเราไปจับเค๊าก็จะมีเสียงร้องเล็กๆในลำคอ อาจจะเป็นเพราะเค๊ากลัวหรือไม่อยากให้เราไปยุ่งกับเค๊าค่ะ กระต่ายแต่ละตัวนิสัยก็ต่างกันไปนะคะ บางตัวก็บ่นได้ตลอดๆ ชอบก็ส่งเสียง หิว ไม่พอใจ ส่งเสียงตลอด บางตัวก็เงียบกริบก็มีค่ะ กระต่ายที่ฟาร์มเราบางตัวเวลาอยากผสมพันธ์ก็ส่งเสียง แถมพอเสร็จภารกิจ ส่งเสียงดังลั่นเลยก็มีค่ะ ออกแนวลามกนิดๆนะเนี่ย

ภาษาร่างกาย
           เราลองสังเกตดีดี ภาษาร่างกายก็บอกอะไรเราได้หลายอย่างนะคะ
เรียกร้องความสนใจ – เอาจมูกมาดุน มาดันๆเรา ,สะกิดๆเราด้วยเท้าหน้าของเค๊า ,งับคุณเบาๆ ก็เป็นอาการเรียกร้องความสนใจของเค๊าได้เช่นกันค่ะ
อารมดี มีความสุข – ส่งเสียง กระโดดโลดเต้น, นอนแผ่อย่างมีความสุข หูลู่ไปด้านหลัง เดินวนรอบตัวคุณ
อยากรู้อยากเห็น – หูลู่ไปด้านหน้า ,โน้มตัวไปด้านหน้าเหมือนสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นนะ ,ยืนๆดูอยากเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น
ป้องกันตัวเอง จู่โจม – อันนี้สังเกตดีดีนะคะ พลาดขึ้นมาอาจจะเจ็บตัวได้ อาการหูลู่ไปด้านหลัง ยกหางขึ้น บางตัวมีสงเสียงขู่ด้วย บางตัวทำท่าเหมือนสนใจเรายืนสองขาน่ารัก พอยื่นมือเข้าไปลูบก็ ฟับ งับเราซะอย่างงั้น -*-

การกัดแทะสิ่งของ
           เป็นปัญหาที่ต้องเข้าใจและดูแลดีดีนะคะ เพราะกระต่ายน้อยเป็นสัตว์ฟันแทะ เค๊าต้องการแทะเพื่อลับฟัน ไม่ให้ฟันงอกยาวจนเกินไป หากฟันของเค๊ายาวอาจจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกมากมายเลยนะคะ เราควรหากิ่งไม้ ท่อนไม้เล็กๆแห้งๆแข็งๆ หรือไม้แทะแบบสำเร็จรูป ทิ้งไว้ให้เค๊าแทะเล่นค่ะ แต่ก็ต้องดูว่าไม้นั้นๆต้องไม่เป็นอันตรายกับเค๊านะคะ และที่ควรระวังคือ สายไฟ พลาสติกต่างๆ และวัสดุที่ไม่ควรให้ตกถึงท้องเค๊าค่ะ

การขุด
          ในธรรมชาติกระต่ายต้องขุดดินเพื่อสร้างโพรง ทำรัง ไว้เลี้ยงลูก อยู่อาศัยและหลบจากศัตรู ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่กระต่ายของเราจะชอบการขุดมาก ยิ่งในกระต่ายเด็ก ทั้งขุดทั้งมุดจนตัวมอมแมมไปหมด เราสามารถหาสถานที่ หาอะไรให้กระต่ายของเราได้ขุดเล่นเพื่อเป็นการลับเล็บได้อีกด้วยนะคะ นอกจากนี้การขุดยังเป็นการบอกว่าแม่กระต่ายของเรากำลังต้องการทำรังคลอดลูกแล้วล่ะค่ะ เราก็จัดเตรียมรังคลอดให้เค๊าได้เลยค่ะ

การนอน
         บางทีเราอาจจะสงสัยว่ากระต่ายของเรานอนบ้างไม๊ ทำไมไม่เห็นหลับตา นั่นก็เพราะว่าโดยสัญชาติญาณของเค๊าซึ่งเป็นผู้ถูกล่าจะมีการระวังตัวสูงค่ะการหลับของเค๊าจึงไม่จำเป็นต้องหลับตาค่ะ แต่ในกรณีที่กระต่ายสบายใจมากเสียเหลือเกิน เราอาจจะเห็นพฤติกรรมการนอนที่สุดจะน่ารักได้หลายรูปแบบเลยค่ะ บางตัวนอนแผ่เป็นไก่ย่าง บางตัวหลับหัวทิ่มคาถ้วยอาหาร บางตัวมีนอนละเมออีกต่างหาก รู้สึกเหมือนจะสูญเสียสัญชาติญาณการเป็นผู้ถูกล่ากลายมาเป็นเจ้าบ้านที่แสนจะสบายใจไปซะแล้วนะคะ

การเคาะเท้า
         กระต่ายจะเคาะเท้าเป็นการเตือนภัย อาจจะเคาะหรือกระโดดขึ้นลงเพื่อให้เกิดเสียง เราจะเห็นการเคาะเท้าได้ตอนที่เค๊าเครียดและตื่นกลัว เช่นมีสัตว์อื่นเข้ามาใกล้บริเวณที่เค๊าอยู่หรือไม่  หรือไม่คุ้นเคยเวลามีคนจะเข้าไปอุ้มค่ะ

การแสดงอาณาเขต
         ในกระต่ายตัวผู้จะมีการแสดงอาณาเขตด้วยการเอาคางถูไปยังที่ต่างๆในบ้านและกรงของมัน บางครั้งเราก็เห็นตัวเมียทำแบบนี้เช่นกัน นี่เป็นการแสดงอาณาเขตของกระต่าย กระต่ายตัวอื่นที่ผ่านเข้ามาจะรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นอาณาเขตของกระต่ายตัวอื่นค่ะ

การแสดงอำนาจ
         การแสดงอำนาจที่มากเกินไปอาจจะทำให้กระต่ายของเราก้าวร้าวได้ กระต่ายแสดงอำนาจโดยการฉี่ไปทั่ว และฉี่ไปที่กรงของกระต่ายตัวอื่นๆ อีกวิธีที่จะแสดงอำนาจก็คือการงับ เป็นได้ทั้งงับกระต่ายตัวอื่นๆ หรืออาจจะลามมาถึงมางับเรา หากกระต่ายตัวไหนเริ่มมีการแสดงอำนาจมากเกินไป เราต้องจัดการแก้ปัญหานี้ก่อนที่จะกลายเป็นกระต่ายแสนโหดนะคะ

ความก้าวร้าว
         เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงไม่อยากเจอเลย การก้าวร้าวเกิดได้จากหลายอย่างค่ะ ทั้งจากความเครียด ความกลัว อาการไม่ได้ดังใจ ในกรณีที่โดนเลี้ยงตามใจมากเกินไป อาการแสดงอำนาจ และบางตัวถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ก็มีค่ะ เรียกได้ว่าดุกันทั้งครอบครัว -*-  แต่เราก็สามารถค่อยๆปรับค่อยๆฝึกให้เค๊าเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องได้นะคะ แต่ต้องใจเย็นๆค่ะ จะทำอะไรในเวลาที่เค๊ากำลังก้าวร้าวคงยาก เพราะเค๊าเป็นสัตว์ที่กัดเจ็บ และถีบรุนแรงมาก ได้แผลได้เลือดกันเลยทีเดียวค่ะ

ข้อมูล จากแหล่งความรู้ที่ต่างๆ และจากประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงดูจาก Country Rabbit Farm

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์

       กระต่ายที่จะนำมาผสม พันธุ์ควรมีอายุอย่างน้อย 5 – 7 เดือน ขึ้นอยู่กับพันธุ์หรือมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัม อัตราส่วนของพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์คือ 1 ต่อ 8 – 10 ตัวและพ่อพันธุ์หนึ่งตัวไม่ควรผสมเกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ กระต่ายตัวเมียจะมีรอบการเป็นสัตว์ประมาณ 16 วัน ควรผสมพันธุ์เมื่อตัวเมียเป็นสัตว์เต็มที่ โดยดูที่อวัยวะเพศ ซึ่งจะบวมแดง มีเมือกเยิ้ม และกระต่ายอาจแสดงอาการกระวนกระวาย ส่งเสียงร้องหรือใช้เท้าตบพื้นกรง ถ้าเลี้ยงไว้หลายตัวรวมกัน ตัวที่เป็นสัดอาจขึ้นขี่ตัวอื่น เมื่อตัวเมียเป็นสัดเต็มที่แล้วให้จับกระต่ายตัวเมียไปใส่ในกรงตัวผู้ ตัวเมียจะยกก้นให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้วตัวผู้จะตกจากหลังตัวเมีย และมักส่งเสียงร้องพร้อมกับใช้เท้าตบพื้นกรง
       แม่กระต่ายจะตั้ง ท้องประมาร 29 – 35 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 31 วัน ในช่วงแรกของการตั้งท้อง ลูกกระตายจะโตขึ้นอย่างช้าๆ หลังจากวันที่ 15 ของการตั้งท้อง ลูกกระต่ายจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรให้อาหารที่มีคุณค่าสูง และเพิ่มปริมาณอาหารให้กับแม่กระต่าย เมื่อแม่กระต่ายตั้งท้องได้ 4 สัปดาห์ ให้จัดเตรียมรังคลอดที่ปูด้วยฟางหรือหญ้าแห้งใส่ในกรงก่อนคลอด 1 – 2 วัน แม่กระต่ายจะกัดขนปูรังคลอด และคาบวัสดุต่างๆที่เราจัดไว้ให้มาจักใส่รังคลอดใหม่ ส่วนใหญ่แล้วแม่กระต่ายจะคลอดในตอนเช้ามือ และให้ลูกครอกละ 5 – 12 ตัว ลูกกระต่ายแรกเกิดจะยังไม่มีขนขึ้น และยังไม่ลืมตา แม่กระต่ายจะให้ลูกกินนมในตอนเช้าวันละ 1 – 2 ครั้งๆละ 3 – 4 นาที เท่านั้น เมื่ออายุ 10 วันลูกกระต่ายจะลืมตา และมีขนขึ้นเต็มตัว พออายุประมาณ 15 วัน ลูกกระต่ายจะเริ่มออกจากรังคลอดและเริ่มกินหญ้าหรืออาหารแข็งได้ ลูกกระต่ายจะหย่านมเมื่ออายุประมาร 5 – 7 สัปดาห์
      บางครั้งจะพบว่าแม่ กระต่ายให้ลูกมากเกินไปทำให้ลูกกระต่ายในครอกนั้นเติบโตช้า ผู้เลี้ยงจึงอาจนำลูกกระต่ายไปฝากแม่ตัวอื่นเลี้ยงได้ แม่กระต่ายที่จะนำไปฝากจะต้องคลอดห่างกันไม่เกิน 3 วัน และควรฝากเมื่อลูกกระต่ายมีอายุน้อยกว่า 5 วัน โดยนำกระต่ายที่จะฝากไปถูกับขนของแม่กระต่ายที่จะรับฝากเลี้ยงแล้วนำไปรวม กลุ่มกับลูกกระต่ายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีที่ไม่มีแม่กระต่ายให้ฝากเลี้ยงอาจนำลูกกระต่ายมาเลี้ยงเองก็ได้ โดยใช้อาหารแทนนมดังตารางที่ 3 ส่วนขวดนมก็อาจใช้หลอดฉีดขนาดเล็กหรือหลอดยาหยอดตา โดยที่ปลายของหลอดมีสายยางขนาดเล็กต่อสวมไว้ เพื่อให้ลูกกระต่ายดูดนมจากหลอดได้


ที่มา : http://www.bunnyonline.com/wp-admin/post.php?action=edit&post=118